ความแตกต่าง E-commerce ไทย VS จีน ปี 2023 แล้ว ใครจะยิ่งใหญ่กว่ากัน?!

Table of Contents

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ได้มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายๆ อย่างถูกทำให้เป็นออนไลน์มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด การซื้อ-ขายสินค้าก็เช่นเดียวกัน จึงทำให้เกิด “E-commerce” หรือคำทางการภาษาไทยเรียกว่า “การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งมีหมายความเข้าใจง่ายๆ ว่า การโฆษณา ซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ต

 

จุดเริ่มต้นของการเติบโตและสถิติปีล่าสุดของ E-commerce ประเทศไทย

เดิมทีการซื้อขายสินค้าในอินเทอร์เน็ตยังไม่หวือหวามากนัก เพราะมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทั้งมีความยุ่งยากและใช้เวลา เช่น การจ่ายค่าส่งสินค้าเพิ่ม การรอสินค้านำส่ง (แต่ก่อน EMS ไปรษณีย์ไทยใช้เวลา 3-5 วัน ลงทะเบียน 5-7 วัน) ต้องตรวจสอบสินค้า ขอเปลี่ยนสินค้ามีตำหนิจากการส่ง ฯลฯ หากยิ่งเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน หรือ Cross Border E-commerce ใน eBay หรือ Amazon นี่ไม่ต้องพูดถึง บางคนรอจนลืมเนื่องจากใช้เวลาส่งทางเรือนานถึง 1-2 เดือน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการกระตุ้นให้ E-commerce ไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้นคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนไทยเกือบทุกคนต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในการทำธุรกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส จากรายงาน Digital Stat 2022 พบว่า “คนไทยซื้อของออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นประจำทุกสัปดาห์สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 45.8% แซงหน้าทะลุประเทศจีน 31.7% อีกทั้งคนไทย 2 ใน 3 ยังซื้อของออนไลน์เป็นประจำมากเป็นอันดับ 1 ของโลก”

 

 

Lazada Thailand ได้เปิดเผยข้อมูลในงานสัมมนาออนไลน์ “Lazada Seller Conference 2022: The Next Chapter เปิดความสำเร็จบทใหม่ไปกับลาซาด้า” เกี่ยวกับสถิติของมูลค่าของ E-commerce ทั้งตลาด B2C และ C2C ในประเทศไทยปี 2022 มูลค่ารวม 818,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 14% จากปีที่ผ่านมา คาดปี 2027 จะมีมูลค่าแตะ 1.6 ล้านล้านบาท รับชมงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ทางเฟซบุ๊กเพจ Lazada Happy Selling หรือ กดที่นี่

 

Landscape E-Commerce ประเทศไทยในปี 2022

 

Thailand E-Commerce Landscape 2022
ที่มารูป: https://www.priceza.com/insights/e-commerce/thailand-e-commerce-landscape-2022.html

 

แม้ว่าตลาด E-commerce ของประเทศไทยดูเหมือนว่าจะกำลังมาแรงและเป็นไปได้ด้วยดี ในขณะเดียวกันก็เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้าน E-commerce เข้มข้นสูงมากเช่นกัน มีเจ้าพ่อ E-commerce จีนเบอร์ 1 Alibaba เบอร์ 2 JD.Com และบริษัทสัญชาติอื่นๆ เข้าปักหมุดเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตามตอนนี้แพลตฟอร์ม E-commerce ยักษ์ใหญ่ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น Lazada หรือ Shopee ก็คงต้องบอกกันตามตรงว่าทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้ไม่ใช่บริษัทประเทศไทยแล้ว ปัจจุบัน Lazada เป็นของบริษัท Alibaba และ Shopee เป็นของ SEA Group ซึ่งมีบริษัท Tencent เป็นผู้ถือหุ้นหลัก

 

การเปรียบเทียบตลาด E-commerce ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน

E-commerce ประเทศจีนก็ไม่น้อยหน้า ถึงแม้ว่าจะแพ้อันดับสถิติจำนวนการซื้อของออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือรายสัปดาห์เป็นประจำ แต่ในปี 2022 ยอดขายในตลาด E-commerce จีนสูงถึง 15.5 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 7.5 ล้านล้านบาท) และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี 12.4% ระหว่างปี 2022 ถึง 2025 ซึ่งหากเอามาเทียบกับประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามูลค่าตลาด B2C E-commerce ไทย ปี 2023 จะเติบโตชะลอลง คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 606,000 – 618,000 ล้านบาท พอเห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว บอกได้เลยว่าประเทศไทย แทบจะเป็นมดตัวเล็กๆ สำหรับวงการ E-commerce Market Size ระดับสากล

 

ช่วงเวลาที่คนจีนส่วนใหญ่มักซื้อสินค้าต่างๆ บนแพลตฟอร์ม E-commerce มักจะเป็นเทศกาลสำคัญ หรือประมาณไตรมาสที่ 4 ในปีนั้นๆ เนื่องจากว่ามีโปรโมชั่นลดราคาสินค้าล้างสต็อกท้ายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่ 11 เดือน 11 สำหรับประเทศจีนวันดังกล่าวถือว่าเป็นวันช้อปปิ้งใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยปี 2021 Tmall แพลตฟอร์ม E-commerce ชื่อดังของจีนในเครือ Alibaba เผยว่ามียอดการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดเป็นมูลค่า 540,300 ล้านหยวน และ JD.com มียอดการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดเป็นมูลค่า 349,100 ล้านหยวน โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น โทรทัศน์จอแบน เครื่องซักผ้า

 

Landscape E-Commerce ประเทศจีนในปี 2022

 

CHINA E-COMMERCE PLATFORM 2022
ที่มารูป: https://alarice.com.hk/china-e-commerce-marketing-digital-report-2023/

 

จุดแข็งของตลาด E-Commerce จีนที่ทำให้ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นใดในโลก คือ เทคโนโลยีในระบบการชำระเงิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสดทันที เนื่องจากเกิดการให้บริการชำระเงินผ่านทางออนไลน์ที่ ครอบคลุมการใช้จ่ายในหลายสถานการณ์ ตั้งแต่สั่งอาหารไปจนถึงจ่ายค่าโดยสารรถประจำทาง สมาคมการชำระเงินและหักบัญชีแห่งประเทศจีน (Payment & Clearing Association of China) รายงานว่าประเทศมีจำนวนผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านทางออนไลน์ (Online Payment) รวมอยู่ที่ 904 ล้านคน เมื่อสิ้นปี 2021 ซึ่งครองสัดส่วน 87.6% ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของจีน และเพิ่มขึ้นเกือบ 50 ล้านคนจากปี 2020

 

 

 

เหตุผลที่ทำให้ E-commerce ประเทศจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์เหตุผลที่ทำให้ E-commerce ประเทศจีนเติบโตจนเป็นอันดับ 1 ในโลกไว้ว่า

  •  ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม E-commerce ในประเทศจีน สามารถขยายช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ ประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการให้แพร่หลายมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ
  • ระบบ logistic ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่นอกเขตชุมชน ทำให้สินค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกคนในทุกพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง
  • E-commerce ประเทศจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของศูนย์วิจัยธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีน (CECRC) พบว่า ในปี 2558 มีผู้ใช้บริการผ่านระบบ E-Commerce สูงถึง 417 ล้านราย ขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 19.1
  • จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตของจีนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยจากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (CNNIC) ระบุว่า ในปี 2015 จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตของจีนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 688.26 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.2 ของจำนวนประชากรของจีน

 

แหล่งที่มา:

จีนเผยผู้ใช้บริการ ‘ชำระเงินออนไลน์’ ทะลุ 900 ล้านคนแล้ว (trueid.net)

อีคอมเมิร์ซจีน 2022 | ข้อมูลเชิงลึก | AsiaPac – เอเจนซี่การตลาดดิจิทัลเอเชีย (asiapacdigital.com)

E-Commerce โตต่อ…แม้ชะลอลง มูลค่าตลาด B2C E-Commerce ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ย 26% ต่อปี คาด… ปี 66 ขยายตัว 4-6% ก – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (kasikornresearch.com)

13 Insight Ecommerce 2022 ข้อมูลพฤติกรรมการซื้อขายของออนไลน์ จาก Digital Stat 2022 (everydaymarketing.co)

 

ติดต่อเรา

Kattaleeya Madsuk
Kattaleeya Madsuk

Digital Marketing and Communication

Person who is highly motivated with cats and dogs

Kattaleeya Madsuk
Kattaleeya Madsuk

Digital Marketing and Communication

Person who is highly motivated with cats and dogs

Share :

Related Post