ย้อนกลับไปก่อนที่ประเทศจีนจะเป็นผู้นำอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อปี 2003 บริษัท Alibaba เปิดตัวแพลตฟอร์มเว็บไซต์ขายของออนไลน์แบบ C2C (Customer to Customer) ชื่อ “Taobao” โดยให้ผู้ขายสามารถลงรายการสินค้าได้ฟรี พร้อมตัวเลือกในการซื้อส่วนเสริมๆ พัฒนาหน้าร้านออนไลน์ของตัวเอง เช่น โฆษณาหรือซอฟต์แวร์เพื่อดูยอดการมองเห็นหรือการมีส่วนร่วม และเมื่อทางร้านขายสินค้าได้ก็จะถูกเก็บค่าธรรมเนียม Affiliate เล็กน้อย ยกตัวอย่างให้เข้าใจมากขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวเปรียบเสมือน “ค่าเช่าร้านในห้าง” แต่อยู่บนพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งทำให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายสามารถสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือโปรโมชันต่างๆ ได้ทันที ภายหลังปี 2021 Taobao เติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถครองตลาดซื้อขายออนไลน์ของประเทศจีนมากถึง 80%
ต่อมาบริษัท Alibaba แตกไลน์เว็บไซต์ขายของออนไลน์แบบ B2C (Business to Customer) ชื่อ “Tmall” เพิ่มขึ้นในปี 2008 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้เจ้าของแบรนด์มีพื้นที่ขายสินค้าของตัวเองโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง (Official Account) ไม่เพียงเท่านั้นยังเปิดแพลตฟอร์ม “Tmall Global” สำหรับแบรนด์ต่างชาติที่ต้องการเปิดร้านออนไลน์ จัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในประเทศจีนโดยตรง
อีคอมเมิร์ซประเทศจีนพัฒนาเมืองได้อย่างไร?
วารสารวิจัยราชมงคลกรุงเทพหัวข้อ “การเติบโตของตลาดออนไลน์จีน” เล่าถึงประเด็นข้อจำกัดของระบบขนส่งว่า “ในอดีตมีผู้ให้บริการเจ้าเดียวที่สามารถส่งสินค้าถึงปลายทางในถิ่นทุรกันดารได้ นั้นคือ บริษัทไปรษณีย์จีน (China Post) และการให้บริการเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ถูกจำกัดอยู่เพียงกลุ่มการใช้งานตามเมืองใหญ่ๆ เนื่องจากพัฒนาการทางด้านโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศจีนในขณะนั้นยังไปไม่ถึงตามพื้นที่ชนบท” ต่อมา รัฐบาลจีนจึงเริ่มใช้นโยบายก้าวออกไป หรือ Go Out policy ผลักดันและสนับสนุนให้กลุ่มบริษัทใหญ่ในประเทศจีนออกไปลงทุนภายนอกเมืองหรือนอกประเทศ หลังจากนั้นกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้ประเทศจีนพัฒนาการหลายสิบเท่า ในปี 2007 พบว่าการค้าปลีกออนไลน์ของจีนมีมูลค่าถึง 8.3 พันล้านดอลลาร์ (56.1 พันล้านหยวน) อีคอมเมิร์ซเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจประเทศจีน จนเกิดการขยายไปสู่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน โลจิสติกส์ อินเทอร์เน็ต การชำระเงินออนไลน์ และบริการสนับสนุนอื่นๆ
การเติบโตของเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ของจีน
การเกิดแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ใหม่ๆ ในประเทศจีน เช่น Pinduoduo JD.com และการหันมาใช้แพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ของชาวจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้จ่ายของชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้บริโภคในหัวเมืองชั้นรอง ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของจีน จากการเก็บข้อมูลจากในหัวเมืองชั้นรองในจีนรวม 2,006 แห่ง ของเว็บไซต์เถาเป่า (taobao.com) พบว่า ปี 2014 มีจำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์เถาเป่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ล้านคน มีมูลค่ารวม 1.79 แสนล้านหยวน เฉลี่ยแล้วผู้ซื้อสินค้าในหัวเมืองชั้นรอง ใช้เงินประมาณ 6,000 หยวนต่อคน และซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 54 ครั้งต่อปี ขณะที่ในหัวเมืองใหญ่ ผู้บริโภคใช้เงินซื้อสินค้าออนไลน์โดยเฉลี่ย 4,700 หยวน และซื้อสินค้าออนไลน์ 39 ครั้งต่อปี
Cross Border E-commerce ยุทธศาสตร์ปฎิรูปสู่การเป็นผู้นำอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยี
ปี 2015 ประเทศจีนส่งเสริมให้กลุ่มทุนแพลตฟอร์มคอมเมิร์ซจีนขยายธุรกิจในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยี ระบบขนส่ง รวมไปถึงการวางโครงสร้างเขตธุรกิจใหม่ จึงกลายเป็นโมเดล Cross Border E-commerce และยังจัดตั้ง “เขตทดลองธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนแบบครบวงจร” ในเมืองปักกิ่ง เพื่อรองรับให้คนต่างชาติเข้าถึงการซื้อ-ขายสินค้าจากประเทศจีนง่ายมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มรูปแบบระบบซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ของประเทศจีนในครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่การสร้างฐานเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของการส่งออกและนำเข้าสินค้าคุณภาพของจีน ยกระดับปริมาณการผลิตสินค้า และส่งเสริมระบบนิเวศทางการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Information) มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นชุดข้อมูลเดียวที่ยังคงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคในตลาด เช่น ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ข้อมูลกลุ่มประชากรกลุ่ม และเทรนกระแสนิยม ซึ่งจะเห็นได้ชัดกรณีการแข่งขันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน หากประเทศใดที่สามารถรวบรวมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ ก็จะสามารถคุมการผลิตและตลาดได้ในที่สุด ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงทำให้ประเทศจีน เริ่มเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อพัฒนาด้านโทรคมนาคมให้คนจีนได้เข้าถึงตลาดโลก
“เทคโนโลยี 5G” จึงเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจประเทศจีนให้ก้าวเข้าสู่ประเทศอันดับ 1 ของโลกในยุคดิจิทัล ที่จะเข้ามาช่วยให้ชีวิตประจำของชาวจีนในแต่ละวันสะดวกขึ้น e-Payment รวดเร็วมากขึ้น ทำธุรกิจแลกเปลี่ยนข้อมูลเร็วขึ้น และเป็นตัวเร่งให้บริษัทโลจิสติกส์ต่างๆ ในเมืองจีนพัฒนาเช่นเดียวกัน ทำให้ส่งสินค้า ณ จุดปลายทางได้อย่างแม่นยำ เกิดเป็นระบบเงินหมุนเวียนย้อนกลับมาสู่การลงทุนของภาครัฐ รัฐบาลจีนเองก็นำเงินที่ได้กลับมาลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ ต่อไป
ปัจจุบัน มีการเชื่อมต่อสัญญาณ 5G กว่าร้อยละ 70 และมีผู้ลงทะเบียนใช้งาน 5G สมาร์ตโฟนแล้ว 50 ล้านคนทั่วโลก โดยมีบริษัทผู้ให้บริการรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท Huawei และบริษัท ZTE นอกจากนี้ ยังมีการยื่นจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ 5G มากที่สุดในโลก นครกว่างโจวได้มีสถานีรับส่งสัญญาณ 5G มากกว่า 110,000 แห่ง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของสถานีรับส่งสัญญาณ 5G ทั่วจีน และมีผู้ใช้บริการ 5G กว่า 30 ล้านคน สูงเป็นอันดับที่ 1 ของจีน โดยข้อมูลจากบริษัท China Unicom สำนักงานนครกว่างโจว ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน
แหล่งที่มา:
History of the Future: how China takes over world e-commerce? (1421.consulting)
What is Taobao and how to get started | Chinafy
การเติบโตของตลาดออนไลน์จีน | วารสารวิจัย มทร. กรุงเทพ (tci-thaijo.org)