โมเดลธุรกิจ O2O (Online to Offline) คือ “การผสานธุรกิจจากออนไลน์ไปยังออฟไลน์” หรือ “การนำคุณภาพของออฟไลน์มาช่วยยกระดับออนไลน์” ที่ประเทศจีนการทำ Online to Offline อย่างเดียวคงไม่พอ คุณจำเป็นต้องมี Offline to Online อีกด้วย ในช่วงแรกที่โมเดลธุรกิจนี้เข้ามาในประเทศจีนนั้นประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากโมเดลธุรกิจ O2O ค่อนข้างให้ความสำคัญในมาตรฐานของคุณภาพของสินค้าและบริการ (O Online ก็สำคัญแต่แพ้ชนะก็วัดกันที่ O Offline อยู่ดี) แต่คนจีนได้ให้ความใส่ใจตรงนี้เท่าไหร่นัก
เมื่อประมาณปี 2012 ช่วงที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปทำงานที่ประเทศจีน และ เป็นที่ปรึกษาในด้านการดูแลระบบ Operations ของธุรกิจ F&B แห่งหนึ่งนั้น พบว่า โรงแรม 5 ดาวที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ แห่งในหัวเมืองหลัก ได้รับคะแนนวิจารณ์ว่า มี Hardware (อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก) ระดับ 6 ดาว แต่ มี Software (บริการ) ระดับ 1 ดาว หลังจากนั้นโมเดลธุรกิจ O2O เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศจีนนั้น เกิดการแข่งขันภาคธุรกิจ สินค้าและ บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการ เนื่องจากลูกค้าพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี จึงทำให้คนจีนผุดไอเดียโมเดลธุรกิจ O2O ออกมาแทบจะครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสร้างความประทับใจให้ได้มากที่สุด
ตัวอย่าง 3 โมเดลธุรกิจ O2O ที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน
หมดยุคเดินไปหาของกิน เพราะอาหารเดินเข้ามาหาแทน
อาหาร + โมเดลธุรกิจ O2O คงจะไม่พ้น ฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ในประเทศจีน ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึงประมาณ 941.74 ล้านหยวน แต่ฟู้ดเดลิเวอรี่มีอัตราส่วนมูลค่าทางการตลาดจากธุรกิจอาหารทั้งหมด ไม่ถึง 8% นั่นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งให้ ตลาดนี้ไม่มีที่อยู่สำหรับเหล่านักพัฒนาที่ไม่มีเงินทุนสนับสนุน เราจะเห็นว่าแอพพลิเคชั่นประเภทนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่ก็ปิดตัวกันเยอะมาก หรือไม่ก็ขาดทุนหลักสิบล้าน ชะตาเดียวกันกับฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยหรือในอเมริกา ซึ่งการแข่งขันที่สูงมากในตลาดนี้ทำให้ผลประโยชน์เข้าผู้บริโภคไปเต็ม ๆ สังเกตได้ว่านี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณภาพในการให้บริการของร้านอาหารในประเทศจีนยกระดับขึ้นอย่างมาก
ตอนนี้ มีอยู่ 3 แอพพลิเคชั่นยอดนิยมที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 87.9% ได้แก่ Meituan-Dianping (美团点评) 45.2%, Ele.me (饿了吗) 36.4%, Baidu-Waimai (百度外卖) 6.3% และ อื่น ๆ 12.1% ตามลำดับ ซึ่งเมื่อช่วงปี 2015 Meituan-Dianping Group ก็ได้เข้าเพิ่มทุนใน Ele.me (饿了吗) เป็นจำนวนเงินสูงถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำข้อตกลงทางธุรกิจในการแบ่งปันฐานข้อมูลกัน ส่งผลให้การถือส่วนแบ่งทางการตลาดของ O2O ประเภทฟู้ด เดลิเวอรี (Food Delivery) ในประเทศจีนนั้น ค่อนข้าง “ผูกขาด” พอสมควร
การเม้าส์มอยระดับชาติ ข่าวเดียวรู้ทั้งประเทศ!
อย่างที่รู้กันมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นชุมชนและสังคม และคนเรามักต้องการความคิดเห็นและเชื่อข้อเสนอของคนหมู่มาก การนำโมเดลธุรกิจ O2O เข้ามาปรับใช้กับการสร้างชุมชนทำให้การสื่อสารของสังคมมนุษย์พัฒนาขึ้นอีกระดับ จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นชุมชนในโลก Online อย่างสมบูรณ์แบบ
ปัจจุบันรูปแบบแพลตฟอร์มเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จนทุกวันกลายเป็นโซเชียลมีเดียที่เอาไว้สร้าง Community เพื่อสื่อสารกัน ไม่เพียงแค่ “คนสื่อสารกับคน” ตอนนี้แต่ยังเป็น “แบรนด์สื่อสารกับคน” อีกด้วย สำหรับโลกอนาคต การสร้างระบบนิเวศ เป็นโจทย์สำคัญที่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นต้องพัฒนาสังคมในแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่ออำนวยความสะดวกและยังคงไว้ให้ชุมชนไม่หายไปไหน เราจึงเริ่มเห็นว่าภายในแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียจีน จะมีฟีตเจอร์การให้บริการต่างๆ ในชีวิตจริง เช่น การซื้อขายของ นัดคิวช่างซ่อม ลากยาวไปถึงการแลกเปลี่ยนของมือสอง และจองที่พัก-ซื้อตั๋วรถโดยสาร
เรียนได้ทุกที ทุกเวลา แม้ก่อนนอนก็ยังเรียนได้
การศึกษาจัดว่าเป็นประเภทของบริการที่เป็นนามธรรมมาก ที่ผมให้คำนิยามแบบนี้เพราะว่าการตั้งมาตรฐานการศึกษา หรือ การสร้างดัชนีวัดความพึงพอใจค่อนข้างทำได้ยากและมีหลายตัวแปรในการวัด ในอดีตดัชนีชี้วัดเพียงอย่างเดียวที่คนนิยมใช้คงจะเป็นผลสอบของผู้เรียนซึ่งก็ไม่สามารถสะท้อนคุณภาพของผู้สอนได้เท่าไหร่ จนกระทั่งปี 2011 เริ่มมีการพัฒนาการศึกษาให้เข้ากับโลก Online มากขึ้น (การเรียน + โมเดลธุรกิจ O2O) จึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา
ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จ คือ hk.51talk.com เล็งเห็นถึงความต้องการในการพัฒนาระดับภาษาอังกฤษของนักเรียนจีนที่ประสบปัญหากับการฝึกสนทนาจริง เนื่องจากปริมาณของครูชาวต่างชาติที่มีไม่มากพอ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่สูง จึงเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาโดยให้นักเรียนจีนได้มีโอกาสสนทนาภาษาอังกฤษออนไลน์กับครูชาวต่างชาติแบบตัวต่อตัวทาง Online ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
ความนิยมของ hk.51talk.com ทำให้การเปิดโรงเรียนสอนภาษาที่มีหน้าร้าน (แบบ Offine) มีจำนวนมากขึ้น ไปตามเมืองและมณฑลต่าง ๆ จากตัวอย่างดังขั้นต้นนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยของ ธุรกิจในประเทศจีนที่นำ โมเดล O2O มาปรับใช้ได้ “จริง” ที่สำคัญคือ คนจีนมองเห็นถึงแก่นแท้ของการผสานระหว่างธุรกิจ ออนไลน์ และ ออฟไลน์ นั่นก็คือการเล็งเห็นความต้องการของผู้ใช้ในตลาด เช่น การส่งอาหาร และที่คาดไม่ถึงคือ การทำเล็บ และ การศึกษา ซึ่งปรับใช้โมเดล O2O ได้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์จริง ส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นจากพื้นฐานเดิม และ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือ “ผู้บริโภค” นั่นเอง