ความแตกต่าง E-commerce ไทย VS จีน ปี 2023 แล้ว ใครจะยิ่งใหญ่กว่ากัน?!

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ได้มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายๆ อย่างถูกทำให้เป็นออนไลน์มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด การซื้อ-ขายสินค้าก็เช่นเดียวกัน จึงทำให้เกิด “E-commerce” หรือคำทางการภาษาไทยเรียกว่า “การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งมีหมายความเข้าใจง่ายๆ ว่า การโฆษณา ซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรทัศน์ โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ต

 

จุดเริ่มต้นของการเติบโตและสถิติปีล่าสุดของ E-commerce ประเทศไทย

เดิมทีการซื้อขายสินค้าในอินเทอร์เน็ตยังไม่หวือหวามากนัก เพราะมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ทั้งมีความยุ่งยากและใช้เวลา เช่น การจ่ายค่าส่งสินค้าเพิ่ม การรอสินค้านำส่ง (แต่ก่อน EMS ไปรษณีย์ไทยใช้เวลา 3-5 วัน ลงทะเบียน 5-7 วัน) ต้องตรวจสอบสินค้า ขอเปลี่ยนสินค้ามีตำหนิจากการส่ง ฯลฯ หากยิ่งเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน หรือ Cross Border E-commerce ใน eBay หรือ Amazon นี่ไม่ต้องพูดถึง บางคนรอจนลืมเนื่องจากใช้เวลาส่งทางเรือนานถึง 1-2 เดือน ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการกระตุ้นให้ E-commerce ไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้นคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คนไทยเกือบทุกคนต้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในการทำธุรกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส จากรายงาน Digital Stat 2022 พบว่า “คนไทยซื้อของออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นประจำทุกสัปดาห์สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 45.8% แซงหน้าทะลุประเทศจีน 31.7% อีกทั้งคนไทย 2 ใน 3 ยังซื้อของออนไลน์เป็นประจำมากเป็นอันดับ 1 ของโลก”

 

 

Lazada Thailand ได้เปิดเผยข้อมูลในงานสัมมนาออนไลน์ “Lazada Seller Conference 2022: The Next Chapter เปิดความสำเร็จบทใหม่ไปกับลาซาด้า” เกี่ยวกับสถิติของมูลค่าของ E-commerce ทั้งตลาด B2C และ C2C ในประเทศไทยปี 2022 มูลค่ารวม 818,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 14% จากปีที่ผ่านมา คาดปี 2027 จะมีมูลค่าแตะ 1.6 ล้านล้านบาท รับชมงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ทางเฟซบุ๊กเพจ Lazada Happy Selling หรือ กดที่นี่

 

Landscape E-Commerce ประเทศไทยในปี 2022

 

Thailand E-Commerce Landscape 2022
ที่มารูป: https://www.priceza.com/insights/e-commerce/thailand-e-commerce-landscape-2022.html

แม้ว่าตลาด E-commerce ของประเทศไทยดูเหมือนว่าจะกำลังมาแรงและเป็นไปได้ด้วยดี ในขณะเดียวกันก็เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้าน E-commerce เข้มข้นสูงมากเช่นกัน มีเจ้าพ่อ E-commerce จีนเบอร์ 1 Alibaba เบอร์ 2 JD.Com และบริษัทสัญชาติอื่นๆ เข้าปักหมุดเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตามตอนนี้แพลตฟอร์ม E-commerce ยักษ์ใหญ่ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น Lazada หรือ Shopee ก็คงต้องบอกกันตามตรงว่าทั้ง 2 แพลตฟอร์มนี้ไม่ใช่บริษัทประเทศไทยแล้ว ปัจจุบัน Lazada เป็นของบริษัท Alibaba และ Shopee เป็นของ SEA Group ซึ่งมีบริษัท Tencent เป็นผู้ถือหุ้นหลัก

 

การเปรียบเทียบตลาด E-commerce ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน

E-commerce ประเทศจีนก็ไม่น้อยหน้า ถึงแม้ว่าจะแพ้อันดับสถิติจำนวนการซื้อของออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือรายสัปดาห์เป็นประจำ แต่ในปี 2022 ยอดขายในตลาด E-commerce จีนสูงถึง 15.5 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 7.5 ล้านล้านบาท) และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี 12.4% ระหว่างปี 2022 ถึง 2025 ซึ่งหากเอามาเทียบกับประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามูลค่าตลาด B2C E-commerce ไทย ปี 2023 จะเติบโตชะลอลง คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 606,000 – 618,000 ล้านบาท พอเห็นตัวเลขแบบนี้แล้ว บอกได้เลยว่าประเทศไทย แทบจะเป็นมดตัวเล็กๆ สำหรับวงการ E-commerce Market Size ระดับสากล

 

ช่วงเวลาที่คนจีนส่วนใหญ่มักซื้อสินค้าต่างๆ บนแพลตฟอร์ม E-commerce มักจะเป็นเทศกาลสำคัญ หรือประมาณไตรมาสที่ 4 ในปีนั้นๆ เนื่องจากว่ามีโปรโมชั่นลดราคาสินค้าล้างสต็อกท้ายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันที่ 11 เดือน 11 สำหรับประเทศจีนวันดังกล่าวถือว่าเป็นวันช้อปปิ้งใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยปี 2021 Tmall แพลตฟอร์ม E-commerce ชื่อดังของจีนในเครือ Alibaba เผยว่ามียอดการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดเป็นมูลค่า 540,300 ล้านหยวน และ JD.com มียอดการจำหน่ายสินค้าทั้งหมดเป็นมูลค่า 349,100 ล้านหยวน โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น โทรทัศน์จอแบน เครื่องซักผ้า

 

Landscape E-Commerce ประเทศจีนในปี 2022

 

CHINA E-COMMERCE PLATFORM 2022

จุดแข็งของตลาด E-Commerce จีนที่ทำให้ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นใดในโลก คือ เทคโนโลยีในระบบการชำระเงิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นสังคมไร้เงินสดทันที เนื่องจากเกิดการให้บริการชำระเงินผ่านทางออนไลน์ที่ ครอบคลุมการใช้จ่ายในหลายสถานการณ์ ตั้งแต่สั่งอาหารไปจนถึงจ่ายค่าโดยสารรถประจำทาง สมาคมการชำระเงินและหักบัญชีแห่งประเทศจีน (Payment & Clearing Association of China) รายงานว่าประเทศมีจำนวนผู้ใช้บริการชำระเงินผ่านทางออนไลน์ (Online Payment) รวมอยู่ที่ 904 ล้านคน เมื่อสิ้นปี 2021 ซึ่งครองสัดส่วน 87.6% ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของจีน และเพิ่มขึ้นเกือบ 50 ล้านคนจากปี 2020

 

 

 

เหตุผลที่ทำให้ E-commerce ประเทศจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์เหตุผลที่ทำให้ E-commerce ประเทศจีนเติบโตจนเป็นอันดับ 1 ในโลกไว้ว่า

  •  ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม E-commerce ในประเทศจีน สามารถขยายช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ ประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการให้แพร่หลายมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ
  • ระบบ logistic ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่นอกเขตชุมชน ทำให้สินค้าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกคนในทุกพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง
  • E-commerce ประเทศจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของศูนย์วิจัยธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของจีน (CECRC) พบว่า ในปี 2558 มีผู้ใช้บริการผ่านระบบ E-Commerce สูงถึง 417 ล้านราย ขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 19.1
  • จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตของจีนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยจากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (CNNIC) ระบุว่า ในปี 2015 จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตของจีนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 688.26 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.2 ของจำนวนประชากรของจีน

 

แหล่งที่มา:

จีนเผยผู้ใช้บริการ ‘ชำระเงินออนไลน์’ ทะลุ 900 ล้านคนแล้ว (trueid.net)

อีคอมเมิร์ซจีน 2022 | ข้อมูลเชิงลึก | AsiaPac – เอเจนซี่การตลาดดิจิทัลเอเชีย (asiapacdigital.com)

E-Commerce โตต่อ…แม้ชะลอลง มูลค่าตลาด B2C E-Commerce ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ย 26% ต่อปี คาด… ปี 66 ขยายตัว 4-6% ก – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (kasikornresearch.com)

13 Insight Ecommerce 2022 ข้อมูลพฤติกรรมการซื้อขายของออนไลน์ จาก Digital Stat 2022 (everydaymarketing.co)

 

ติดต่อเรา

แชร์ :