โมเดลธุรกิจ O2O กำลังประสบความสำเร็จในประเทศจีน

โมเดลธุรกิจ O2O (Online to Offline) คือ “การผสานธุรกิจจากออนไลน์ไปยังออฟไลน์” หรือ “การนำคุณภาพของออฟไลน์มาช่วยยกระดับออนไลน์” ที่ประเทศจีนการทำ Online to Offline อย่างเดียวคงไม่พอ คุณจำเป็นต้องมี Offline to Online อีกด้วย ในช่วงแรกที่โมเดลธุรกิจนี้เข้ามาในประเทศจีนนั้นประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากโมเดลธุรกิจ O2O ค่อนข้างให้ความสำคัญในมาตรฐานของคุณภาพของสินค้าและบริการ (O Online ก็สำคัญแต่แพ้ชนะก็วัดกันที่ O Offline อยู่ดี) แต่คนจีนได้ให้ความใส่ใจตรงนี้เท่าไหร่นัก

เมื่อประมาณปี 2012 ช่วงที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปทำงานที่ประเทศจีน และ เป็นที่ปรึกษาในด้านการดูแลระบบ Operations ของธุรกิจ F&B แห่งหนึ่งนั้น พบว่า โรงแรม 5 ดาวที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ แห่งในหัวเมืองหลัก ได้รับคะแนนวิจารณ์ว่า มี Hardware (อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวก) ระดับ 6 ดาว แต่ มี Software (บริการ) ระดับ 1 ดาว หลังจากนั้นโมเดลธุรกิจ O2O เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศจีนนั้น เกิดการแข่งขันภาคธุรกิจ สินค้าและ บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคบริการ เนื่องจากลูกค้าพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี จึงทำให้คนจีนผุดไอเดียโมเดลธุรกิจ O2O ออกมาแทบจะครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสร้างความประทับใจให้ได้มากที่สุด

ตัวอย่าง 3 โมเดลธุรกิจ O2O ที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน

หมดยุคเดินไปหาของกิน เพราะอาหารเดินเข้ามาหาแทน

Market size of online food delivery service in China from 2011 to 2021 with a forecast for 2022

อาหาร + โมเดลธุรกิจ O2O คงจะไม่พ้น ฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ในประเทศจีน ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึงประมาณ 941.74 ล้านหยวน แต่ฟู้ดเดลิเวอรี่มีอัตราส่วนมูลค่าทางการตลาดจากธุรกิจอาหารทั้งหมด ไม่ถึง 8% นั่นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งให้ ตลาดนี้ไม่มีที่อยู่สำหรับเหล่านักพัฒนาที่ไม่มีเงินทุนสนับสนุน เราจะเห็นว่าแอพพลิเคชั่นประเภทนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่ก็ปิดตัวกันเยอะมาก หรือไม่ก็ขาดทุนหลักสิบล้าน ชะตาเดียวกันกับฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยหรือในอเมริกา ซึ่งการแข่งขันที่สูงมากในตลาดนี้ทำให้ผลประโยชน์เข้าผู้บริโภคไปเต็ม ๆ สังเกตได้ว่านี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณภาพในการให้บริการของร้านอาหารในประเทศจีนยกระดับขึ้นอย่างมาก

ตอนนี้ มีอยู่ 3 แอพพลิเคชั่นยอดนิยมที่กินส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 87.9% ได้แก่ Meituan-Dianping (美团点评) 45.2%, Ele.me (饿了吗) 36.4%, Baidu-Waimai (百度外卖) 6.3% และ อื่น ๆ 12.1% ตามลำดับ ซึ่งเมื่อช่วงปี 2015 Meituan-Dianping Group ก็ได้เข้าเพิ่มทุนใน Ele.me (饿了吗) เป็นจำนวนเงินสูงถึง 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำข้อตกลงทางธุรกิจในการแบ่งปันฐานข้อมูลกัน ส่งผลให้การถือส่วนแบ่งทางการตลาดของ O2O ประเภทฟู้ด เดลิเวอรี (Food Delivery) ในประเทศจีนนั้น ค่อนข้าง “ผูกขาด” พอสมควร

การเม้าส์มอยระดับชาติ ข่าวเดียวรู้ทั้งประเทศ!

อย่างที่รู้กันมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นชุมชนและสังคม และคนเรามักต้องการความคิดเห็นและเชื่อข้อเสนอของคนหมู่มาก การนำโมเดลธุรกิจ O2O เข้ามาปรับใช้กับการสร้างชุมชนทำให้การสื่อสารของสังคมมนุษย์พัฒนาขึ้นอีกระดับ จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นชุมชนในโลก Online อย่างสมบูรณ์แบบ

ปัจจุบันรูปแบบแพลตฟอร์มเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จนทุกวันกลายเป็นโซเชียลมีเดียที่เอาไว้สร้าง Community เพื่อสื่อสารกัน ไม่เพียงแค่ “คนสื่อสารกับคน” ตอนนี้แต่ยังเป็น “แบรนด์สื่อสารกับคน” อีกด้วย สำหรับโลกอนาคต การสร้างระบบนิเวศ เป็นโจทย์สำคัญที่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นต้องพัฒนาสังคมในแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่ออำนวยความสะดวกและยังคงไว้ให้ชุมชนไม่หายไปไหน เราจึงเริ่มเห็นว่าภายในแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียจีน จะมีฟีตเจอร์การให้บริการต่างๆ ในชีวิตจริง เช่น การซื้อขายของ นัดคิวช่างซ่อม ลากยาวไปถึงการแลกเปลี่ยนของมือสอง และจองที่พัก-ซื้อตั๋วรถโดยสาร

 

เรียนได้ทุกที ทุกเวลา แม้ก่อนนอนก็ยังเรียนได้

การศึกษาจัดว่าเป็นประเภทของบริการที่เป็นนามธรรมมาก ที่ผมให้คำนิยามแบบนี้เพราะว่าการตั้งมาตรฐานการศึกษา หรือ การสร้างดัชนีวัดความพึงพอใจค่อนข้างทำได้ยากและมีหลายตัวแปรในการวัด ในอดีตดัชนีชี้วัดเพียงอย่างเดียวที่คนนิยมใช้คงจะเป็นผลสอบของผู้เรียนซึ่งก็ไม่สามารถสะท้อนคุณภาพของผู้สอนได้เท่าไหร่ จนกระทั่งปี 2011 เริ่มมีการพัฒนาการศึกษาให้เข้ากับโลก Online มากขึ้น (การเรียน + โมเดลธุรกิจ O2O) จึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา

ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จ คือ hk.51talk.com เล็งเห็นถึงความต้องการในการพัฒนาระดับภาษาอังกฤษของนักเรียนจีนที่ประสบปัญหากับการฝึกสนทนาจริง เนื่องจากปริมาณของครูชาวต่างชาติที่มีไม่มากพอ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่สูง จึงเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาโดยให้นักเรียนจีนได้มีโอกาสสนทนาภาษาอังกฤษออนไลน์กับครูชาวต่างชาติแบบตัวต่อตัวทาง Online ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก

โมเดลธุรกิจ O2O ในรูปแบบการศึกษา

 

ความนิยมของ hk.51talk.com ทำให้การเปิดโรงเรียนสอนภาษาที่มีหน้าร้าน (แบบ Offine) มีจำนวนมากขึ้น ไปตามเมืองและมณฑลต่าง ๆ จากตัวอย่างดังขั้นต้นนั้น เป็นเพียงส่วนน้อยของ ธุรกิจในประเทศจีนที่นำ โมเดล O2O มาปรับใช้ได้ “จริง” ที่สำคัญคือ คนจีนมองเห็นถึงแก่นแท้ของการผสานระหว่างธุรกิจ ออนไลน์ และ ออฟไลน์ นั่นก็คือการเล็งเห็นความต้องการของผู้ใช้ในตลาด เช่น การส่งอาหาร และที่คาดไม่ถึงคือ การทำเล็บ และ การศึกษา ซึ่งปรับใช้โมเดล O2O ได้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์จริง ส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นจากพื้นฐานเดิม และ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือ “ผู้บริโภค” นั่นเอง

 

 

ติดต่อเรา

ติดต่อเรา

แชร์ :